ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบสหรัฐปรับขึ้น 0.8% แต่เบรนท์ขยับลง

นิวยอร์ค--2 ธ.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ปรับขึ้น แต่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขยับลงในวันพฤหัสบดี โดยราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และจากความคาดหวังที่ว่า อุปสงค์เชื้อเพลิงในจีนจะปรับสูงขึ้น หลังจากเมืองใหญ่ 2 เมืองในจีน ซึ่งได้แก่เมืองกวางโจวและเมืองฉงชิ่ง ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในวันพุธ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.66 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยรูดลงจาก 105.78 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากดิ่งลงแตะ 104.56 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. โดยดัชนีดอลลาร์รูดผ่านค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันที่ระดับ 105.51 ลงมาด้วย โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ส่งผลให้น้ำมันมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนม.ค.ปรับขึ้น 67 เซนต์ หรือ 0.8% มาปิดตลาดที่ 81.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.พ.ที่ตลาดกรุงลอนดอนขยับลง 9 เซนต์ มาปิดตลาดที่ 86.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากราคาสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เดือนใกล้เพิ่งดิ่งลงแตะ 80.61 ดอลลาร์ในวันจันทร์ที่ 28 พ.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบสหรัฐและเบรนท์มีแนวโน้มว่าอาจจะปิดตลาดสัปดาห์นี้ในแดนบวก หลังจากปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนลบมานาน 3 สัปดาห์ติดต่อกัน

  • นายอีไล เทสฟาเย นักยุทธศาสตร์การลงทุนตลาดของบริษัทอาร์เจโอ ฟิวเจอร์สกล่าวว่า "ราคาน้ำมันจะไม่พุ่งขึ้นถึงระดับ 100 ดอลลาร์ ถึงแม้ว่าเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในจีนเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง" และเขาคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 70-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะค่อย ๆ เข้าสู่เสถียรภาพ หลังจากแกว่งตัวผันผวนเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายแมทท์ สมิธ นักวิเคราะห์น้ำมันของบริษัท Kpler กล่าวว่า "ราคาน้ำมันจะยังคงได้รับผลกระทบจากข่าวที่ออกมาจากจีน เนื่องจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องในจีนส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่ออุปสงค์น้ำมันในจีน ซึ่งถือเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก" และเขากล่าวเสริมว่า หลังจากราคาน้ำมันดิบสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับต่ำกว่า 75 ดอลลาร์ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ นักลงทุนก็มุ่งความสนใจไปยังปัจจัย 3 ประการที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมัน ซึ่งได้แก่การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันอาทิตย์ที่ 4 ธ.ค., มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย และการที่สหรัฐยุติการระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ซึ่งจะส่งผลลบต่อปริมาณสต็อกน้ำมันในคลังเชิงพาณิชย์

  • นักวิเคราะห์กล่าวว่า ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า อาจจะมีการปรับลดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ในขณะที่นักการทูตในสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า รัฐบาลประเทศสมาชิกอียูได้ตกลงกันเป็นการชั่วคราวในวันพฤหัสบดีว่า จะมีการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลไว้ที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ข้อตกลงนี้ยังคงต้องรอการอนุมัติอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐบาลประเทศสมาชิกอียูทุกประเทศในวันศุกร์ และโปแลนด์ก็ยังไม่ได้ยืนยันว่าจะสนับสนุนข้อตกลงนี้หรือไม่

  • กลุ่มโอเปกพลัสจะจัดการประชุมออนไลน์ในวันที่ 4 ธ.ค. และมีการคาดการณ์กันว่าทางกลุ่มจะคงนโยบายการผลิตน้ำมันไว้ตามเดิมในการประชุมครั้งนี้--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

Login or create a forever free account to read this news