SET:SET   SET Index
ราคามีการรีบาวน์ขึ้นมาตลอดทั้งสัปดาห์ในขณะที่ฝั่ง ดาวน์โจนส์ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องก่อนปิดสัปดาห์ไป
สัปดาห์นี้ราคาเปิดมาทำ swing low ไว้ที่ 1010 จุด และ swing high อยู่ที่ 1133 จุด ก่อนจะปิดสัปดาห์ไว้ที่ 1127 จุด

- ปัจจัยเชิงเทคนิค

การรีบาวน์ยังคงเป็นการรีบาวน์ขึ้นมาในแนวโน้มขาลง ยังคงไม่มีสัญญาณกลับตัวให้เห็นในระยะยาว
การรีบาวน์ขึ้นมา จะมีแนวต้านอยู่ที่ 1224 จุด ดังนั้น หากในสัปดาห์หน้า ราคาไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปเหนือแนวต้านนี้ได้ ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลงต่อตามแนวโน้มเดิม

ส่วนภาพรวมในระยะสั้นมีโอกาสที่จะ sideway ในกรอบ 1150 - 1010 โดยประมาณ
เป้าการลงระยะยาวยังคงอยู่ที่ 894 จุด โดยประมาณ อิงจากเป้า retracement

=============================
- ปัจจัยอื่นๆ
ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
โดยหากนับตั้งแต่ช่วงการเข้าซื้อตั้งแต่ 13-19 มีนาคม 2563 มียอดรวมกว่า 100,000 ล้านบาท

นอกจากนี้
คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี
โดยให้มีผลในวันที่ 23 มีนาคม 2563 เพื่อ....
- ลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ
- บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน
- ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้เพื่อช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและที่กำลังจะออกมาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ทางแบงค์ชาติได้กำชับให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด

=============================

ถึงแม้ว่า กนง.จะมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงถือว่าน้อยมาก ซึ่งตลาดกำลังคาดหวังว่า ในการประชุม กนง. นัดปกติวันที่ 25 มี.ค.นี้ กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจ
และที่สำคัญ ตลาดคาดหวังว่า กนง. จะมีมาตรการดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินด้วย เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกจึงพากันเทขายสินทรัพย์ต่างๆ ออกมา เพื่อถือเงินสด ทำให้สภาพคล่องในตลาดเงินตึงตัว

ดังนั้นสิ่งที่แบงก์ชาติพอจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ได้ คือ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ที่สำคัญนอกจากการลดดอกเบี้ยแล้ว แบงก์ชาติ ควรฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบให้มากกว่านี้
ซึ่งนอกจากบอนด์รัฐบาลแล้ว ควรดูไปถึงหุ้นกู้เอกชนด้วย เพราะวันนี้คนพากันเทขาย สะท้อนว่าเขาไม่ต้องการถือสินทรัพย์การลงทุนใดๆ การจะต่ออายุหุ้นกู้ หรือออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อมาทดแทนจึงทำได้ยาก
ถ้าปล่อยไว้ระบบการเงินจะมีปัญหาได้

=============================

ทางด้านของ FED ทีผ่านมา
มีการประกาศการร่วมมือกับธนาคารกลางประเทศอื่น ได้แก่ แคนาดา อังกฤษ ญี่ปุ่น ยุโรป และสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศเพิ่มความถี่ในการทำธุรกรรม swap ระยะ 7 วัน เป็นรายวัน
จากปกติเป็นรายสัปดาห์ โดยมีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 23 มีนาคมจนถึงสิ้นเดือน เมษายนเป็นอย่างน้อย ขณะที่สัญญาอายุ 84 วันยังคงความถี่เป็นรายสัปดาห์เช่นเดิม

โดย FED หวังว่ามาตรการนี้จะช่วยรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อความต้องการสกุลเงินดอลลาร์ของ ภาคธุรกิจ และครัวเรือนทั้งในและต่างประเทศ

=============================
ความเห็นส่วนตัว

ถึงแม้จะมีการออกมาอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดกันอย่างมากในช่วงนี้ ก็ยังต้องระวังภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่ดี จริงอยู่ที่เราอาจจะเห็นตลาดหุ้นมีการรีบาวน์ขึ้นมา แต่อย่าลืมว่า กลุ่มเงินที่อัดฉีดเข้ามามันอยู่แค่ในตลาดทุนเป็นส่วนใหญ่
กระแสเงินสดที่หมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจจริงๆนั้น ยังคงมีปัญหาอยู่

ตราบใดที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่แปรผันตามคือ การหยุดชะงักของกระแสเงินสด เนื่องจากผู้คนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอยทำให้เงินไม่หมุนในระบบ
สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบของภาคธุรกิจต่างๆ ดังนั้น การอัดฉีดสภาพคล่องอาจทำได้แค่พยุงตลาดทุน แต่ อาจไม่ได้ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในช่วงนี้


Disclaimer

The information and publications are not meant to be, and do not constitute, financial, investment, trading, or other types of advice or recommendations supplied or endorsed by TradingView. Read more in the Terms of Use.